เอชไอวีคืออะไร
เอชไอวี เป็นชื่อของไวรัสชนิดหนึ่งกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้
H = คือ human หรือ มนุษย์ ได้แก่ ผู้ที่ติดโรค
I = คือ immunodeficiency หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็น เชื้อโรคที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันในตัวคน
V = คือ virus ไวรัส คือ เชื้อโรคที่ทำให้เราเจ็บป่วย
ฉันจะติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร
เพียงด้วยตาเปล่า เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าใครเป็นโรคเอชไอวีบ้าง เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยปกติจะดูเป็นผู้มีสุขภาพดี และไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ
เชื้อเอชไอวีจะอาศัยอยู่ในเลือด ในของเหลวจากเพศสัมพันธ์ และน้ำนมจากเต้านม ท่านสามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ถ้าอย่างหนึ่งอย่างใดจากสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระแสเลือดของท่าน โดยปกติ เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้จาก
- การไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา หรือช้อนในการฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่น
- ใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคในการเจาะแทงร่างกายและสลักรอยสัก หรือในการทำพิธีต่างๆ
- น้ำนมจากเต้านม
- การติดต่อโดยตรงผ่านทางเลือด เช่น การถ่ายเลือดและการปลูกถ่ายอวัยวะร่างกายในบางประเทศที่ไม่มีการตรวจสอบเชื้อเอชไอวี ก่อนล่วงหน้า แต่สำหรับการถ่ายเลือดและการปลูกถ่ายอวัยวะร่างกายในออสเตรเลียถือว่าปลอดภัย เมื่อมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ท่านจะไม่ติดเชื้อเอชไอวีจาก
- การกอดกัน
- การไอหรือจาม
- แบ่งอาหารหรือเครื่องดื่มกัน
- รับประทานอาหารที่ปรุงโดยผู้ที่เป็นเอชไอวี
- การถ่ายเลือดและกระบวนการทางแพทย์อย่างอื่นในออสเตรเลีย
- ใช้ห้องสุขาหรือห้องอาบน้ำฝักบัวร่วมกับผู้เป็นโรคเอชไอวี
- การถูกแมลงหรือสัตว์กัดต่อย
- การติดต่อเป็นประจำวันกับผู้ที่เป็นเอชไอวี
- สระว่ายน้ำหรือสถานที่ออกกำลังกาย
เชื้อเอชไอวีทำอะไรกับร่างกายชเราบ้าง
เชื้อเอชไอวีจะทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา ระบบภูมิคุมกันในตัวเราจะพยายามกำจัดเชื้อโรคและป้องกันไม่ให้เราเจ็บป่วย เชื้อเอชไอวีจะทำให้ระบบภูมิคุมกันของเราอ่อนแอลงจนไม่สามารถป้องกันเราได้อีก ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมกินยารักษาเอชไอวี ก็อาจจะล้มป่วยหนักได้
เอชไอวี (HIV) และเอดส์ (AIDS) เป็นสิ่งเดียวกันใช่ไหม
ไม่ใช่
เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา
เอดส์ ไม่ใช่เชื้อไวรัส
เอดส์เป็นเชื้อโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่พบเห็นน้อย ที่คอยทำร้ายร่างกายเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในตัวเราอ่อนแอลงมาก จะเกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อเอชไอวีได้กำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่ในตัวเราให้หมดลง ซึ่งจะใช้เวลานานหลายปีเลยทีเดียว
โรคเอดส์เกิดขึ้นน้อยในออสเตรเลีย เนื่องจากมียาป้องกันดี
ในออสเตรเลีย การติดเชื้อเอชไอวี ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องตายด้วยโรคเอดส์
ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี
วิธีเดียวที่จะรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ก็คือจากการตรวจเลือด
- ถ้าผลการตรวจเลือดออกมาเป็น “ลบ” แปลว่า คุณไม่มีเชื้อเอชไอวี
- ถ้าผลการตรวจเลือดออกมาเป็น “บวก” แปลว่า คุณมีเชื้อเอชไอวี
หลายคนจะไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี เพราะรู้สึกสบายดี แต่ในตอนที่ติดเชื้อครั้งแรกอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหัว
- เป็นไข้
- เหนื่อยและอ่อนเพลีย
- ต่อมบวม
- เจ็บคอ
- เป็นผื่น
- ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
- เป็นแผลที่ปาก
- เป็นแผลที่อวัยวะเพศ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ท้องเสีย
แต่อาการเหล่านี้อาจเกิดจากการเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นหวัดอย่างแรง หรืออาการเจ็บป่วยอย่างอื่น หากท่านคิดว่าตนเองอาจติดเชื้อเอชไอวี ก็ต้องไปหาแพทย์ตรวจเสียให้เรียบร้อย
ฉันต้องทำอย่างไร ถ้าฉันมีเชื้อเอชไอวีเป็นบวก
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจจะช่วยจัดให้ท่านไปพบกับผู้อื่น เช่น ที่ปรึกษาตามที่เห็นสมควร
แพทย์จะสั่งยารักษาเอชไอวี ให้ท่าน ยานี้จะช่วยให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานโดยมีสุขภาพที่ดีได้
โรคเอชไอวี สามารถบำบัด หรือรักษาให้หายขาดได้ไหม
โรคเอชไอวีไม่สามารถบำบัดให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาได้โดยการเยียวยา
ยาเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนของเชื้อไวรัสในเลือดให้เหลือจำนวนต่ำลงมาก จนไม่อาจส่องเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ที่เรียกว่า “จำนวนไวรัสที่ไม่สามารถพบได้” (undetectable viral load) และหมายความว่า ท่านจะไม่มีอาการเจ็บป่วยจากเชื้อเอชไอวี และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ หากท่านกินยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็จะหมายความว่าท่านจะไม่ถ่ายทอดโรคนี้ให้กับผู้อื่นด้วย
ฉันจะป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร
- ทำการตรวจให้รู้แน่ว่าท่านและคู่นอนของท่านมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ หากท่านมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน (หรือคู่นอนของท่านไปร่วมเพศกับคนอื่นด้วย) ก็ยิ่งต้องตรวจเป็นประจำ ยิ่งมีคู่นอนหลายคนก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น
- ใช้ถุงยางอนามัย
- รับการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เอสทีไอ) การเป็นโรคเอสทีไอจะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หรือทำให้คนอื่นติดเชื้อจากท่านได้เพิ่มมากขึ้น จงบอกให้คู่นอนของท่านไปทำการตรวจและรับการรักษาเอสทีไอด้วย
- สอบถามจากแพทย์ของท่านเกี่ยวกับยาป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือ (PrEP) PrEP เป็นยาที่ป้องกันไม่ให้ท่านติดเชื้อเอชไอวี ใช้สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อได้
“ความเสี่ยงสูง” หมายถึง
- ผู้ที่มีคู่นอนที่ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน
- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายคนอื่น
- ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา น้ำและช้อนในการฉีดยาเสพติดร่วมกัน
- ใช้เฉพาะเครื่องมือฉีดยา (ที่สะอาด) และน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้วเท่านั้น จงอย่าใช้เครื่องมือของท่านร่วมกับผู้อื่น เชื้อ เอชไอวีสามารถติดต่อถ่ายถึงกันได้กระทั่งผ่านหยดเลือดเม็ดจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่ติดเข็มฉีดยามา
- การสลักรอยสักหรือการเจาะแทงร่างกาย ให้ใช้บริการจากสถานที่ที่มีถือใบอนุญาตซึ่งมีการทำความสะอาดเข็มและอุปกรณ์ต่างๆอย่างถูกต้องหรือทิ้งไปหลังใช้เท่านั้น และยังต้องแน่ใจว่าเขาใช้หมึกขวดใหม่กับท่าน
- กระบวนการถ่ายเลือดหรือการปฏิบัติทางการแพทย์อย่างอื่น ในออสเตรเลีย เลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือดและอวัยวะได้ผ่านการทดสอบมาแล้วและปลอดภัยต่อการใช้ แต่การถ่ายเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือดและอวัยวะจากประเทศอื่นอาจไม่ปลอดภัย
ฉันจะแน่ใจได้อย่างไรว่า จะไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้กับคนอื่น
- ปรึกษากับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับการกินยารักษาเอชไอวี ยารักษาเอชไอวีทำให้จำนวนไวรัสในเลือดลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อจำนวนไวรัสในเลือดลดลงมาก ท่านก็จะไม่สามารถถ่ายเชื้อเอชไอวีถึงอีกคนหนึ่งได้ วิธีนี้เรียกว่า “รักษาโดยวิธีการป้องกัน” หรือ (TasP)
- หมั่นทำการตรวจเป็นประจำ ถึงแม้ว่าท่านจะกินยารักษาเอชไอวี ท่านก็ยังพึงไปตรวจหาแพทย์อยู่เป็นประจำ เนื่องจากไวรัสเอชไอวีนั้น มีหลายชนิด และมีความเป็นได้ว่า คนๆหนึ่งสามารถติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่าหนึ่งชนิดในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ต้องเปลี่ยนยาที่กินก็ได้
- ทำการตรวจเชื้อเอสทีไอ ยารักษาเอชไอวีไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอสทีไอ แต่โอกาสที่ท่านจะได้รับการถ่ายเชื้อเอชไอวี (หรือติดเชื้อ) จะสูงขึ้นสำหรับผู้ที่มีอาการเอสทีไออยู่แล้ว ทางที่ดี ให้หมั่นไปทำการตรวจเชื้อเอสทีไอเป็นประจำ และทำการรักษาทันทีถ้าผลการตรวจออกมาเป็น “บวก” ทั้งนี้ คู่นอนของท่าน (ทุกคน) ก็พึงได้รับการตรวจและรักษาด้วยเช่นกัน
- ใช้ถุงยางอนามัย ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- จงอย่าใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา และช้อนในการฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่น
- น้ำนมจากเต้านม ถ้าท่านกำลังกินยารักษาเอชไอวีอยู่ และต้องการจะเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมของท่านเอง ท่านพึงปรึกษาแพทย์โรคเอชไอวีเสียก่อน
ฉันต้องบอกใครไหมว่าฉันเป็นเอชไอวี
ตามกฎหมายท่านจะต้องแจ้ง
- คู่นอนประจำหรือคู่นอนคนอื่น ๆ ของท่าน ในบางรัฐของออสเตรเลีย ท่านต้องบอกคู่นอนก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเขา แต่ละรัฐจะมีกฎที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทางที่ดี ท่านควรตรวจให้รู้แน่นอนก่อนเดินทางไปที่นั่น
- กระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย เนื่องจากท่านไม่สามารถเข้ารับราชการทหารได้หากท่านมีเชื้อเอชไอวี
- ถ้าท่านเป็นนักบิน
- หน่วยงานประกันภัย เวลาซื้อประกันภัยบางอย่าง เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันการเดินทาง
- หน่วยงานรับบริจาคเลือดหรืออวัยวะร่างกาย เช่น ไต ท่านไม่สามารถให้บริจาคได้หากท่านเป็นเอชไอวี
แต่ท่านไม่ต้องแจ้ง
- นายจ้าง
- เพื่อนร่วมงาน
- เพื่อนร่วมห้อง
- ครอบครัว
- เจ้าของบ้าน
- ครู
- เพื่อนนักเรียน
- เพื่อนฝูง
ผู้ที่ท่านพึงแจ้งได้แก่
- แพทย์ของท่าน เพื่อแพทย์จะได้ช่วยท่านทำการตรวจและสั่งยา
- ที่ปรึกษาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลโรคเอชไอวีของท่าน เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ให้ความช่วยเหลือแก่ท่านได้
ฉันจะขอความช่วยเหลือกับคำแนะนำได้จากที่ไหน
มีกลุ่มเอชไอวีในชุมชนออสเตรเลียหลายกลุ่มเลยทีเดียว ที่สามารถให้คำแนะนำกับความช่วยเหลือแก่ท่านได้